บ้านกร่างหัวแท

                        “บ้านกร่างเมืองโบราญ นามกล่าวขานมีไก่เหลืองหางขาว ชื่อลือเลื่อง ผู้เฒ่าบอกว่า เป็นไก่เจ้าเลี้ยง นักเลงไก่ชนบอกว่า กินเหล้าเชื่อ”  นี่เป็นคำบอกกล่าวกันมาแต่โบราญ จากรุ่นสู่รุ่นลงมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นตำนานไก่ชนพระนเรศวรจังหวัดพิษณุโลก เมื่อประวัติศาสตร์บอกว่า ไก่ชนพระนเรศวรนำไปจากบ้านกร่าง คนบ้านกร่างจึงมีความภูมิใจ และใจลำพองบอกว่าไก่บ้านตัวเองเก่ง “บ้านกร่างหัวแท”  เป็นชื่อเรียกกันมาแต่โบราญ มีหลักฐานบ่งบอกว่า “บ้านหัวแท” เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมมาแต่สมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางใต้หมู่บ้านกร่างในปัจจุบัน เมื่อชุมชนเจริญขึ้นหมู่บ้านขยายตัวขึ้นมาทางเหนือ ซึ่งเป็นป่าต้นกร่าง จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกร่างหัวแท” เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นร้อย ๆ ปี ผู้คนนิยมเรียกชื่อสั้น ๆ ชื่อบ้านกร่างหัวแทจึงหดเหลือเพียงชื่อ “บ้านกร่าง”
                        บ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก แดนไก่ชนพระนเรศวรฯ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษไทยโบราญ ปัจจุบันพบซากหักพังของวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง และมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์มายาวนาน ผู้คนในหมู่บ้านยังสืบทอดขนบธรรมเนียมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือมีงานเทศกาลต่าง ๆ ก็จะนัดชนไก่กัน ปัจจุบันมีบ่อนไก่ชน 1 แห่ง ประจำหมู่บ้าน
                        ทุกวันอาทิตย์ที่มีไก่ชนในสังเวียน จะพบว่าลุงแก่ ๆ ท่านหนึ่ง ไปดูไก่ชนทุกนัด ชื่อ “ลุงชิต เพชรอ่อน” อายุประมาณ 90 ปี (พ.ศ.2533) ร่างกายแข็งแรง ตาดี หูตึงพูดต้องเสียงดัง ซักถามคนในหมู่บ้านบอกว่าเป็นนักเลงไก่ชนมาตั้งแต่เด็ก สืบสายเลือดการชนไก่มาจากพ่อและปู่ ท่านเล่าว่าสมัยปู่เลี้ยงไก่ชน (ประมาณ 200 ปีมาแล้ว) บ้านกร่างเลี้ยงไก่มาก เป็นไก่เก่งชนชนะชื่อเสียงดังมาก เป็นที่ต้องการของคนต่างถิ่นมาก ไก่ที่เลี้ยงเป็น “ไก่อูตัวใหญ่ สีเหลือง หางขาว” และปู่ได้พูดเสมอว่า “ไก่เหลืองหางขาว  ไก่เจ้าเลี้ยง” คำพูดนี้ติดปากคนบ้านกร่างมาจนถึงทุกวันนี้
                        การประกวดไก่ชนนเรศวรครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2533 ได้ไก่ชนนเรศวรที่ชนะเลิศ เป็นไก่ชนตัวแรกที่นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาไก่ชนนเรศวรให้ได้มาตรฐานตามภูมิปัญญาแต่โบราญ ข้าพเจ้าจึงคิดจัดตั้งกลุ่มผู้สนใจที่จะรวมตัวกันพัฒนาไก่ชนนเรศวรขึ้นที่บ้านกร่าง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไก่เจ้าเลี้ยงในปี พ.ศ.2535 โดยจัดประชุมผู้สนใจที่วัดธรรมเกษตร แต่มีผู้สนใจน้อย จึงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ข้าพเจ้าได้รับความสนใจที่ตำบลหัวรอ  นำโดยกำนันเฉลิม  อู่ทองมาก  จึงประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรเป็นครั้งแรก แต่ความพยายามจัดตั้งกลุ่มที่บ้านกร่างมาสำเร็จลงได้ ด้วยความต้องการของชาวบ้านกร่างเอง เพื่อต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับคนบ้านกร่าง บ้านกร่างจึงกลับมาดังอีกครั้งหนึ่ง นำโดยอาจารย์สำเร็จ  แก้วดิษฐ์  ได้ทำพิธีเปิดกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.2542 อาจารย์สำเร็จได้นำกลุ่มบ้านกร่างประสบความสำเร็จสมชื่อ มีสมาชิกกลุ่ม 54 ครอบครัว กลุ่มมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตไก่ชนนเรศวรให้ได้มาตรฐาน และต้องชนเก่งด้วย อาจารย์สำเร็จ  มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างพันธุ์ไก่ชนนเรศวรที่มีเกล็ดใต้อุ้งเท้าตามตำราและเกล็ดใต้ฝ่านิ้วด้วย  เพื่อจดลิขสิทธิ์พันธุ์ด้วยแต่เชื่อเสียงอันโด่งดังของกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรบ้านกร่างที่สร้างมา 5 ปีเต็ม ต้องหยุดลงเมื่อปี พ.ศ.2547 เกิดมีไข้หวัดนกระบาด ไก่ชนนเรศวรของสมาชิกต้องตายด้วยโรคระบาดและถูกทำลายตัดตอนเป็นจำนวนมาก แล้วยังขาดผู้ที่ดำเนินการสืบสานต่อไก่เก่งประจำเล้าของอาจารย์สำเร็จ  แก้วดิษฐ์  คือ “พายุเกย์”  เป็นไก่เหลืองหางขาวที่สวยงามและชนเก่งด้วย มี “เกล็ดใต้อุ้งเท้า” ตามตำราไก่ชนนเรศวรและมีเกล็ดใต้ฝ่านิ้วด้วย เกล็ดนิ้วกลางนับได้ 25 เกล็ด ปีกไซสามเส้นประกบด้านอกและใน ชนชนะ 4 ไฟล์ เดิมพันหลักแสนขึ้น ชนะในอันสองทุกครั้ง ลูกไก่ขายตัวละ 1,500 บาท มีคิวยาวมากนับว่าขายลูกไก่ได้ราคาดีมาก ๆ
                        “อาจารย์ต้อ” ชื่อนี้ผู้เลี้ยงไก่ชนตำบลบ้านกร่างต้องรู้จัก รวมทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่อนุรักษ์เข้าประกวดทั่วประเทศต้องจำชื่อ อาจารย์วุฒิวรพงษ์ ศรีเมือง (อาจารย์ต้อ) แห่งวิทยาลัยเกษตรบ้านกร่างเดิม ได้เป็นอย่างดี ท่านเป็นอาจารย์ที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นและมีผลงานมากมาย เมื่อครั้งข้าพเจ้าศึกษาสุนัขบางแก้ว อาจารย์จะเป็นแหล่งเลี้ยงสุนัขบางแก้วเพื่อการวิจัย และจำหน่ายเผยแพร่พันธุ์ให้ประชาชน จึงนับว่าอาจารย์ต้อเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังที่สร้างสรรค์ให้สุนัขบางแก้วมีชื่อเสียงในปัจจุบัน  เมื่อบ้านกร่างได้ตั้งชมรมอนุรักษ์ไก่ชนนเรศวรขึ้นท่านก็มาสนใจเลี้ยงไก่ชนนเรศวรอย่างจริงเอาจัง ท่านช่วยแนะนำการเลี้ยงดู  การผสมพันธุ์ให้กับชมรมบ้านกร่างโดยตลอด พร้อมนี้ ท่านได้ร่วมเป็นกรรมการตัดสินไก่ชนนเรศวรทุกครั้งกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก และท่านยังเป็นฝ่ายวิชาการในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ชนนเรศวร ท่านมีความชำนาญในเรื่องการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ไก่ชนนเรศวรมีรูปร่างสวยงามดังในปัจจุบัน ท่านรับเป็นวิทยากรให้คำแนะนำบรรยาย เรื่องการผสมพันธุ์ให้ลงเหล่า ตามภูมิปัญญาแต่โบราญ ซึ่งจะตรงกับหลักการผสมพันธุ์สายเลือดชิดในวงเหล่าของตัวเอง ท่านอาจารย์วุฒิวรพงษ์  ศรีเมือง  ได้ฝากผลงานในเรื่องสุนัขบางแก้ว และไก่ชนนเรศวรให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และของประเทศไทยเป็นอันมาก เมื่อท่านจากพวกเราไปแล้ว พวกเรายังรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ
                        ปัจจุบันมีลูกหลานของลุงชิต  เพชรอ่อน  ต้องการจะสืบสานต่ออุดมการณ์ของบรรพบุรุษ คือ ลุงชิต  เพชรอ่อน  ผู้จุดประกายในการเริ่มต้นค้นหาไก่ชนพระนเรศวรในคำพูดที่ว่า “ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” ชาวบ้านกร่างจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรขึ้นมาใหม่อีก โดยการนำของกำนันตำบลบ้านกร่าง นายอดุลย์  โมลา  ซึ่งเป็นกำนันนักพัฒนา และมีนิสัยทัศน์ไกล ร่วมมือกันประธานสภาองค์การบริหารตำบลบ้านกร่างคือ นายกิติศักดิ์  นาคมี  และมีลูกหลานลุงชิต คือ นายบุญลือ  เพชรอ่อน  เป็นแกนนำรวมตัวสมาชิกในตำบลขึ้นมาตั้งชมรมใหม่ และยังได้ร่วมมือกับนายสุชาติ  ขาวสะอาด  มาตั้งร้านจำหน่ายไก่ชนนเรศวรที่บริเวณถนนเลี่ยงเมือง  เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิกผู้เลี้ยง ทางชมรมยังเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด จัดขึ้น เป็นการสร้างชื่อให้ไก่ชนนเรศวรบ้านกร่าง โด่งดังเหมือนในอดีต
                        เมื่อคราวการประกวดไก่ชนนเรศวรครั้งแรกของประเทศไทย ในงานครองราชย์ครอบ 400 ปี ของพระนเรศวรมหาราช วันที่ 29 กรกฏาคม 2533 ไก่จากบ้านกร่างได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 2 คือ ไก่ของนายปรีชา   ศรีวิชัย  และได้รับรางวัลชมเชย 2 ตัว คือ ไก่ของนายแมน  เพชรอ่อน  และไก่เหลืองหางขาวของนายประนอม  เนียมหอม 
                        การกลับมารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มไก่ชนนเรศวรครั้งนี้ เป็นการสืบสานต่อไก่ชนเหลืองหางขาวบ้านกร่างให้ดำรงคงอยู่จากไก่เหลืองหางขาว ที่ได้มาตรฐาน 3 ตัว ในปี พ.ศ.2533 และให้ความทรงจำของคนไทยยังคงอยู่ว่า “ไก่เหลืองหางขาวบ้านกร่าง,พระนเรศวรมหาราช นำไปชนชนะไก่ของพระมหาอุปราชาที่พม่า”
                        คุณปรีชา  บัวทองจันทร์  ได้ร้อยกรองเกียรติคุณไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยงบ้านกร่างเมืองสองแควได้ ดังนี้
                                                                        ไก่ชนของ “สองแคว”
                                                            รุ่นพ่อ-แม่  ล้วนกล่าวขาน
                                                            ผู้คนขนานนาม
                                                            ตามตำราว่า “ไก่ดี”
                                                                        สุดยอดของ “ไก่เก่ง”
                                                            เหล่านักเลงมานานปี
                                                            เหนือ-ใต้-ออก-ตก มี
                                                            ยอดไก่ตีที่โลกลือ
                                                                        “เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง”
                                                            สร้างชื่อเสียงให้ระบือ
                                                            นาม “นเรศวร” จงเชื่อมือ
                                                            เพราะข้าคือ ยอดไก่ชน
                                    นอกจากการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรตำบลบ้านกร่าง กำนันอดุลย์  โมลา   เมื่อครั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแม่ระหันก็ได้พัฒนาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งเรื่องคมนาคม และความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพหลากหลายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกของหมู่บ้าน จึงได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหลบทองคำ ปี พ.ศ.2550 บ้านแม่ระหัน จากกระทรวงมหาดไทย และได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยมแหลบทองคำของจังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2555 นี้  ได้ร่วมมือกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง (ว่าที่ร้อยตรีธรรมนูญ ท้าวฮ้าย) และประธานสภา อ.บ.ต. มีโครงการ สร้างรูปปั้นไก่ชนนเรศวรขนาดสูง 5 เมตร ไว้หน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง และบริเวณทางแยกเลี้ยงเมืองเพื่อกระตุ้นให้คนไทยเกิดความรักชาติ รักแผ่นดิน โดยยึดเอาพระราชกรณีกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า พระนเรศวรขณะอยู่ที่พม่าได้ชนไก่ชนะพระมหาอุปราชาของพม่า เป็นการกู้ศักดิ์ศรีความเป็นไทยคืนมา ไม่ให้ใครมาลบหลู่และสบประมาทได้ คนไทยทุกคนต้องจำชื่อ “ไก่ชนนเรศวรบ้านกร่างอยู่ในขั้วหัวใจตลอดไป”
************************************



                       



SHARE

นสพ.นิสิต ตั้งตระการพงษ์

ผู้จุดประกายหมาบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวจนโด่งดังทั่วประเทศ ซึ่งสุนัขพันธุ์บางแก้วและไก่ชนพันธุ์พระนเรศวรเหลืองหางขาว เป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการไปทั่วประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต เก็บข้อมูล บันทึก ผลักดันมาตรฐานพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จุดประกายให้สุนัขบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวโด่งดังมาจนถึงวันนี้

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น