ไก่อู

                        ไก่อูหายไปไหน ? ไก่อูหน้าตาเป็นอย่างไร ? นี่เป็นสองคำถามที่พวกเราคนไทยถามหา เพราะว่าคำว่า “ไก่อู” ไม่มีการพูดถึงในสังคมไทยเลยในปัจจุบัน แต่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้วมา คำว่า “ไก่อูเป็นที่รู้จักของคนในสมัยนั้น จึงมีผู้เรียกร้องถามหาเพื่อให้คนในสมัยนี้ได้รู้จัก
                        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 “ไก่อู” เป็นชื่อไก่ชนิดหนึ่ง ตัวใหญ่กว่าไก่แจ้ หงอนเล็ก ตัวผู้มีหลายสี แต่สีขนไม่สดใสเหมือนไก่แจ้ ตัวเมียมีสีดำเหลือบเขียว
                        ตำราไก่ชนและปลากัดของอภิวัตน์ สาริพันธุ์ พ.ศ.2509 “ไก่อู” เป็นไก่ชนชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมเลี้ยงกัน ไก่อูเป็นไก่ชนไทยแท้จริง ต้องมีเนื้อมากแข็ง เดือยแหลมและยาว ปากคอม เล็บยาว
                        จากตำราไก่ชนที่ไม่ทราบผู้เขียนบอกว่า “ไก่ชน” เป็นไก่พื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่งเรียกว่า “ไก่อู”  ไก่พื้นเมืองไทยแต่เดิมมามีไก่ตะเภา ไก่แจ้และไก่อู “ไก่อู” ที่นำชนกันไม่ได้หมายความว่า ไก่อูทุกตัวเป็นไก่ชน ไก่อูที่จะนำมาชนนั้น ต้องผ่านการคัดเลือกอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ชนโดยเฉพาะ ต้องเป็นไก่ต่อสู้ มีความแข็งแกร่ง ทรหดอดทนมาก ปีกต้องแข็งบินได้ดี หงอนเล็กและต้องดูที่นิสัยใจคอของพ่อแม่พันธุ์ด้วย ต้องฝึกหัดให้จัดเจนในการชนด้วย
                        ตำราไก่ชนเขียนโดยเคดุลยา พิมพ์ พ.ศ.2530 “ไก่อู” เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองไทยที่ใช้เป็นไก่ชน เป็นพันธุ์นักสู้มีความทรหดอดทน แข็งแกร่ง ใช้ปีกบินได้ดี ทนทานต่อคู่ต่อสู้ได้อย่างดี ฉะนั้นไก่ชนทั้งหลายจึงคัดเลือกมาจากไก่อู แต่ไก่อูหาใช่ใช้ทำไก่ชนได้ทุกตัวไม่ ไก่ชนที่ดีต้องดูลักษณะเด่นสมประกอบทุกอย่าง
                        มีคำคมของ ศ.ดร.จรัญ   จันทลักขณา เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2526 รศ.ดร.อภิชัย  รัตนวราหะ  ได้นำมาลงไว้ในหนังสือศาสตร์และศิลป์การเลี้ยงไก่ชน “คนชนบทชอบเลี้ยงไก่อู เพราะคัดเลือกเป็น “ไก่ชน” ได้ดี ชาวปักษ์ใต้ชอบเลี้ยงวัว และนิยมกีฬา “ชนวัว” บางแห่งก็นิยม “ชนควาย” อีกด้วยแถบภาคกลางเช่น จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม เป็นต้น ชาวบ้านนิยมการวิ่ง “วัวลาน” ส่วนแถบจังหวัดชลบุรีมีประเพณีการวิ่ง “แข่งควาย” ประเพณีนิยมต่าง ๆ เหล่านี้มีส่วนช่วยให้คนชนบทชอบเลี้ยงปศุสัตว์”
                        จากตำราไก่ชนที่กล่าวมาแล้วนั้น ไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงกันอยู่ทั่วไป ตามชนบท ไก่ตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง เมื่อนำมาทดลองชนดูชั้นเชิง ถ้าตัวไหนมีเชิงชนที่ดีแล้ว ก็คัดนำมาเลี้ยงเป็นไก่ชน ไก่ที่ชนไม่ดีไม่เก่งก็นำมาเลี้ยงเพื่อส่งขายสู่ตลาดเพื่อเป็นอาหารบางครั้งก็เรียกว่า “ไก่แกง” ดังนั้น ไก่ชนจึงถูกคัดเลือกจากไก่พื้นบ้านทั่วไปซึ่งจะมี 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่จะนำมาเป็นไก่ชนได้ ส่วนไก่ที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นไก่แกง ดังนั้น ในปัจจุบันเราจะไม่ได้ยินคำว่าไก่อู เพราะว่าทางราชการก็นิยมเรียกไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงกันว่า “ไก่พื้นเมือง” เมื่อเห็นไก่บ้านนำมาขายในตลาดก็เรียกว่า “ไก่แกง” บางคนก็เรียกว่า “ไก่ต้ม” บางคนเห็นไก่พื้นบ้านใส่กระทอใส่ตะเข่งจำนวนมากมายก็เรียกชื่อว่า “ไก่กระทอ” “ไก่ตะเข่ง” ดังนั้นคำว่าไก่อูเป็นไก่พื้นบ้านจึงถูกลืมไปไม่มีคนเรียก เมื่อไก่อีกกลุ่มหนึ่งถูกคัดเลือกมาเป็นไก่ชน แล้วผสมพันธุ์พัฒนาพันธุ์เป็นไก่ชนสีต่าง ๆ ก็เรียกชื่อไก่ชนตามด้วย สีของไก่ เช่น ไก่เหลืองหางขาว ไก่ประดู่หางดำ ไก่เขียวหางดำ ไก่เทาทอง เมื่อไก่อูถูกพัฒนามาเป็นไก่ชนแล้วก็ไม่เรียกไก่อู
                        การบริโภคหรือการกินไก่ของคนไทยในปัจจุบันก็มีการพัฒนาขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากอาหารคือเนื้อไก่มากที่สุด จึงนิยมกินไก่ตัวเล็กเนื้อนุ่มไม่เหนียวไก่พื้นบ้าน ที่นำมาบริโภคนี้เรียกว่าไก่รุ่นกระทง คือ ไก่ตัวผู้ที่หน้าแดงเพิ่งหัดขัน ภาษาไก่ชนเรียกว่า “ยังไม่สู้ไก่” คือ นำไปทดลองชนก็ไม่กล้าตีกันกล้า ๆ กลัว ๆ ถ้าเป็นตัวเมียที่หน้าแดง ๆ เป็นไก่ที่เพิ่งติดพันตัวผู้ เพื่อผสมพันธุ์หรือไก่เพิ่งเริ่มไข่ ไก่ระยะนี้เป็นที่นิยมบริโภคกันเรียกว่า “ไก่กระทง” ในสมัยก่อนคนไทยเรานิยมบริโภคไก่ตัวใหญ่น้ำหนัก 2-3 กิโลกรัมขึ้นไป เมื่อเห็นไก่พื้นบ้านตัวใหญ่ก็เรียกว่าไก่อู ดังนั้นในปัจจุบันไก่พื้นบ้านที่นำมาบริโภคจึงเรียกว่า “ไก่กระทง” ไก่อูจึงหายไปจากตลาดซื้อขายไก่เพื่อบริโภค
                        ไก่อูหรือไก่พื้นเมืองไทย เป็นไก่ที่อยู่คู่กับสังคมไทย มาเป็นเวลาช้านาน มีการเลี้ยงเกือบทุกครัวเรือน ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน เพื่อเป็นเกมกีฬาในการชนไก่และเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ เรียกว่าไก่อุดมทัศนีย์ในปัจจุบันข้อดีของไก่อูพื้นบ้านของเมืองไทยคือ เป็นไก่ที่แข็งแรงอดทน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีภูมิต้านทานโรคได้ดี และมีชั้นเชิงในการชนได้ดี ตัวเมียจะไข่ดกฟักไข่ได้ลูกมากเลี้ยงลูกเก่ง ประกอบกับคนโบราญใช้ภูมิปัญญาในการคัดเลือกพันธุ์และผสมพันธุ์ จึงทำให้เรามีไก่ที่สายพันธุ์ดี เป็นมรดกตกทอดถึงปัจจุบัน ถึงแม้ชื่อ “ไก่อู” จะหายไปเพียงแต่หายไปแต่ชื่อเท่านั้น แต่ชื่อไก่พื้นเมืองไทยยังคงอยู่ ชื่อไก่สีต่าง ๆ ซึ่งเรียกชื่อตามสีของตัวไก่ยังคงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รวบรวมไว้มีอยู่ 12 สี ดังนี้
1.       ไก่เหลืองหางขาว
2.      ไก่พระนเรศวร
3.      ไก่ประดู่หางดำ
4.       ไก่ประดู่เลาหางขาว
5.      ไก่เขียวเลาหางขาว
6.      ไก่เขียวหางดำ
7.       ไก่เทาหางขาว
8.      ไก่ทองแดงหางดำ
9.      ไก่นกแดง
10.   ไก่นกกด
11.    ไก่ลายหางขาว
12.   ไก่ชี

**********************
SHARE

นสพ.นิสิต ตั้งตระการพงษ์

ผู้จุดประกายหมาบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวจนโด่งดังทั่วประเทศ ซึ่งสุนัขพันธุ์บางแก้วและไก่ชนพันธุ์พระนเรศวรเหลืองหางขาว เป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการไปทั่วประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต เก็บข้อมูล บันทึก ผลักดันมาตรฐานพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จุดประกายให้สุนัขบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวโด่งดังมาจนถึงวันนี้

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น