ประวัติศาสตร์ของชาติไทย
ได้บันทึกพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มีการชนไก่ชนะพระมหาอุปราชา
ตามบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การของขุนหลวงหาวัดและพงศาวดารกรุงเก่า
ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เล่าว่า “วันหนึ่งพระมหาอุปราชา
กับพระนเรศวรเล่นชนไก่ ไก่ของพระมหาอุปราคาแพ้ พระมหาอุปราชาฯ ก็ขัดใจ
จึงแกล้งพูดเป็นคำเยาะเย้ยว่าไก่เชลยเก่งชนะไก่เราได้ พระนเรศวรได้ฟังดังนั้น ก็น้อยพระทัย
ผูกอาฆาตพระมหาอุปราชา แกล้งตรัสตอบไปเป็นนัยว่า ไก่ของหม่อมฉันนี้
พระองค์อย่าเข้าพระทัยว่าจะชนะแต่ไก่ของพระองค์ จะชนเอาบ้านเอาเมืองก็จะได้” จากพระราชประวัติการชนไก่ของสมเด็จพระนเรศวรเพียงเท่านี้เท่านั้นที่มีบันทึกไว้
อย่างลอย ๆ ไม่ได้บอกว่ามีการชนไก่กันที่ไหน?
ปีพุทธศักราชที่เท่าไร? เพียงแต่ในบันทึกนี้มีคำว่า “ไก่เชลย”
ครูอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรให้เด็กนักเรียนที่พวกเราเรียน
รวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วยก็เคยเรียนมาและท่องจำอย่างขึ้นใจ
ว่าสมเด็จพระนเรศวรชนไก่ชนะพระมหาอุปราชา ตอนพำนักอยู่กรุงหงสาวดี
ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองได้ขอตัวไปเป็นบุตรบุญธรรม หรือเป็นตัวจำนำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2107
เมื่อมีพระชันษา 9 ปี และพำนักอยู่กรุงหงสาวดีอยู่ถึง 6 ปี
จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2113 พระชันษา 15 ปี
ในช่วงที่พำนักอยู่กรุงหงสาวดีถึง 6 ปีนั้น ก็ไม่ทราบว่าท่านได้มีการชนไก่ในปี
พ.ศ.เท่าไร แต่ก็มีเอกสารประวัติศาสตร์บางฉบับไม่ได้อ้างผู้แต่งบอกว่า
สมเด็จพระนเรศวรชนไก่กับพระมหาอุปราชาในปี พ.ศ.2110 ซึ่งพระองค์ท่านมีพระชันษา 12
ปี ในช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรพำนักอยู่หงสาวดี 6 ปี ยังทรงพระเยาว์มาก
ยังหาสาเหตุแห่งการท้าประลองชนไก่ไม่ได้
และไม่มีสาเหตุแห่งการขัดเคืองพระทัยซึ่งกันและกัน
แต่ก็เป็นเพียงความเห็นที่น่าชื่อถือได้ และได้สอนกันต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับผู้อนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
ซึ่งข้าพเจ้าก็เกิดความสงสัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ซึ่งได้ศึกษาประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรเพื่อเตรียมการประกวดไก่ชนของพระนเรศวรและได้ไปถ่ายภาพศึกษาภาพการชนไก่ของสมเด็จพระนเรศวร
กับพระมหาอุปราชา ณ วัดสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นภาพเก่าแก่
มีคำบรรยายใต้ภาพว่า “พระนเรศวรฯ เมื่ออยู่หงสาวดี เล่นพนันไก่กับมังสามเกลียด
มังสามเกลียดก็ว่าไก่เชลยเก่งพระนเรศวรฯ ตรัสบอกว่าไก่เชลยตัวนี้จะพนันเมืองกัน
ต่างองค์ต่างไม่พอใจในคำตรัส
พ.ศ.2121 พระชันษา 23 ปี” สำหรับประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกไว้ว่าในปี
พ.ศ.2121 สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงนำเรือพายติดตามพระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมร
ที่มาขอสวามิภักดิ์ ต่อมาทราบข่าวว่าพระบรมราชาเจ้านายของตนยกโทษาให้
จึงลอบลงเรือสำเภาหนีกลับเขมร เกิดยิงต่อสู้ที่ปากอ่าวเจ้าพระยา
พระนเรศวรยิงถูกนายทหารขั้นผู้ใหญ่ของเขมรตายถึง 3 คน
แล้วเรือของพระยาจีนจันตุได้ลม จึงหลบหนีไปได้สำหรับภาพเขียนที่วัดสุวรรณดารามที่เก่าแก่นี้
มีการชำรุดเสียหายและมีการซ่อมแซมเมื่อประมาณ 100 ปี มาแล้ว
อาจมีการผิดพลาดขึ้นได้ เนื่องจากภาพชำรุด
เพียงแต่มีการยืนยันได้ว่ามีการชนไก่และมีการท้าพนันกันเกิดขึ้น
สำหรับประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรชนไก่ชนะพระมหาอุปราชา
ข้าพเจ้าได้ศึกษาอ่านประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เกิดความสว่างชัดเจนน่าเชื่อถือ จึงคัดมาลงให้ผู้อ่านได้พิจารณาด้วยจากหนังสือ
พระประวัติ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชการ
พระนิพนธ์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
---------------
พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ พระยาเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์
(แม้น วสันต์สิงห์)
ณ
เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19
พฤศจิกายน พุทธศักราช 2505
*******************
ถึงเดือน
12 ปีมะเส็ง พ.ศ.2124 พระเจ้าสาวดีบุเรงนองสวรรคต
พระเจ้านันบุเรงขึ้นครองราชสมบัติ จึงบอกข่าวไปยังเจ้าประเทศราชให้เข้าเฝ้า
ตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ครองกรุงศรีอยุธยาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเวลานั้นชันษาได้
26 ปี เสด็จไปแทนพระองค์ ปรากฏว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังไม่ได้ไปเฝ้าตามรับสั่ง
พระเจ้านันทบุเรงทรงดำริว่า จำต้องปราบเมืองคังให้เป็นตัวอย่าง
สั่งให้พระมหาอุปราชา คุมพลชาวเมืองหงสาวดีกองทัพหนึ่ง พระสังกะทัต คนกล้าหาญ คุมพลชาวเมืองตองอูกองทัพหนึ่ง
และสมเด็จพระนเรศวร คุมพลชาวกรุงศรีอยุธยากองทัพหนึ่งให้ไปตีเมืองคัง
เจ้านายทั้ง 3 พระองค์ตกลงให้กองทัพพระมหาอุปราชายกขึ้นไปตีก่อน
ถ้าตีไม่ได้จะให้พระสังกะทัต และพระนเรศวรผลัดกันเข้าตีวันต่อมา
พระมหาอุปราชายกทัพขึ้นไปปล้นเมืองคังเวลากลางคืน
พวกชาวเมืองต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถกองทัพพระมหาอุปราชาตีเข้าเมืองไม่ได้จึงถอยทัพกลับ
วันถัดมาพระสังกะทัตยกทัพขึ้นไปตีเมืองคัง ก็ไม่สามารถตีเข้าเมืองคังได้เหมือนกัน สมเด็จพระนเรศวรไปตรวจท้องที่พบทางน้อยขึ้นเมืองคังได้อีกทางหนึ่ง
จึงแบ่งทหารออกเป็น 2 กอง พอเวลาค่ำมืดให้กองน้อยให้ไปซุ่มอยู่ด้านหน้า
ทางที่พระมหาอุปราชาและพระสังกะทัตเคยขึ้นไป ให้กองใหญ่ให้ไปซุ่มอยู่ทางที่พบใหม่
พอเที่ยงคืนให้กองน้อยยิงปืนโห่ร้องเหมือนจะเข้าตีทางด้านหน้า ตอนดึกใกล้รุ่งให้กองใหญ่ขึ้นไปตีทางที่พบใหม่
พอเช้าก็เข้าเมืองได้และจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังได้ด้วย
การตีเมืองคังนั้นเหมือนอย่างประชันกัน
สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองคังที่หลังกลับมีชัยชนะ พระมหาอุปราชากับพระสังกะทัต
ตลอดจนพวกรี้พลก็รู้สึกอัปยศอดสู ฝ่ายพวกกองทัพไทยก็คงยินดีร่าเริงเป็นธรรมดา
เลยเกิดรังเกียจกันในระหว่างพวกไทยในกองทัพสมเด็จพระนเรศวรกับพวกพม่ามอญ
จนมีเรื่องเล่ากันมาว่า วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา
ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชากำลังขุ่นเคือง ตรัสออกมาว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ”
สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสตอบไปในทันทีว่า “ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่จะพนันเอาเดิมพันเลย
ถึงจะชนเอาบ้านเอาเมืองกันก็ได้ “ ดังนั้น ชวนให้เห็นว่าที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแสดงความสามารถของไทย
เมื่อคราวไปตีเมืองคังนั้น พระเจ้าหงสาวดีนันทุเรงก็คงไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระนเรศวรมีชัยชนะ
แต่ก็จำเป็นต้องชมเชยและพระราชทานบำเหน็จรางวัลถึงขนาด แล้วให้เสด็จกลับเมืองไทย
ในความเห็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ซึ่งฟันธงว่าสมเด็จพระนเรศวรนไก่ชนะพระมหาอุปราชา
ภายหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรชนะเมืองคัง
พวกเราชมรมอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรทุกท่านต้องยึดถือเอาปีพุทธศักราช
2124 เป็นปีที่สมเด็จพระนเรศวรชนไก่พระมหาอุปราชาและต้องช่วยกันสืบค้นต่อไปอีกว่า
ในวันที่ชนไก่นั้นตรงกับวันที่เท่าใด ? เดือนอะไร ?
ซึ่งเราจะต้องยึดถือเองว่าเป็น”วันไก่ชนไทย “
***********************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น