ไก่ตะเภา

                        ไก่พื้นเมืองหรือไก่พื้นบ้านของเมืองไทย ตั้งแต่โบราญนั้นมีเลี้ยงกันอยู่ทั่วประเทศ นิยมเลี้ยงกันทุกครัวเรือน เป็นการเลี้ยงปล่อยให้ไก่หากินเอง เนื่องจากมีพื้นที่ว่างเป็นป่าเป็นสวน จึงมีอาหารไก่อุดมสมบูรณ์ ไก่ที่เลี้ยงจึงเจริญเติบโตเองโดยธรรมชาติ เพราะว่าไก่ไทยมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานต่อโรค ตัวเมียไข่ดกและเลี้ยงลูกเก่ง จึงทำให้ไก่ไทยยังคงอยู่รอดพ้นจากภัยธรรมชาติตกทอดเหลือเป็นมรดกให้คนไทยเลี้ยงอยู่ถึงปัจจุบัน  ไก่ไทยที่เลี้ยงแต่โบราญมีอยู่ 3 ชนิดคือ ไก่อู ไก่แจ้ และไก่ตะเภา  สำหรับไก่อู นั้น คือ ไก่พื้นบ้านโดยทั่วไป  แต่ถ้าตัวไหนชนเก่ง ก็คัดเลือกเป็นไก่ชน ที่เหลือจากการคัดเลือกไก่ชนแล้วก็ใช้บริโภคเป็นอาหาร  หรือขายส่งตลาด ดังนั้น ไก่ชนไทยคือไก่ที่พัฒนามาจากไก่อูพื้นบ้านและในปัจจุบันไก่ชนไทย กรมปศุสัตว์ ได้รวบรวมลักษณะมาตรฐานของไก่ชนไทยได้ 12 สายพันธุ์  แยกตามสีของไก่ เช่น ไก่ชนนเรศวร   ไก่เหลืองหางขาว  ไก่ประดู่หางดำ  ไก่เขียวหางดำ  ไก่เทาทอง  เป็นต้น
                        ส่วนไก่แจ้นั้นนิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ฟังเสียงขันที่ไพเราะ  แต่ขนาดตัวเล็ก  ไข่ดก จึงไม่นิยมใช้บริโภค  เราจะพบเห็นไก่แจ้อยู่ในวัดตามชนบทของประเทศไทย เนื่องจากไก่แจ้เป็นไก่ที่ผสมพันธุ์เก่ง คนไทยจึงเรียกว่า “เจ้าชู้ไก่แจ้” ไก่แจ้จึงมักจะลักผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ไก่ชน ทำให้เสียพันธุ์ไก่ชน ไก่แจ้จึงถูกนักเลี้ยงไก่ชนนำไปปล่อยวัด
                        สำหรับไก่ตะเภานั้นในปัจจุบันไม่มีใครได้ยินชื่อนี้เลย จึงทำให้เด็กในปัจจุบันไม่มีใครรู้จัก เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นและรู้จักในสมัยเด็กที่อยู่บ้านนอกนั้น ไก่ตะเภาคือ ไก่ตัวใหญ่ ๆ สีน้ำตาล ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีขนขึ้นที่ด้านข้างของแข้ง คนไทยนิยมเลี้ยงไว้เป็นอาหาร เพราะตัวมีขนาดใหญ่ ไม่นิยมเลี้ยงไว้ชนจากพจนานุกรม ฉบับราชบัญญัติยสถาน พ.ศ.2525 ให้คำนิยามไว้ดังนี้ “ไก่ตะเภา เป็นชื่อไก่ชนิดหนึ่งตัวอ้วนใหญ่ สีน้ำตาล มีขนที่หน้าแข้งหางสั้น” จากหนังสือไก่ชนโบราญ ได้บรรยาย ไก่ตะเภา เป็นไก่พื้นเมืองมีขนมาก ตั้งแต่เท้าไปจนถึงหัว มีหงอน มีเหนียงรุงรัง  มีลักษณะเป็นไก่อุ้ยอ้าย เพราะความอ้วนของลำตัวและขนรุงรังมาก จึงไม่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นไก่ชน นอกจากเลี้ยงไว้กินไข่ หรือกินเนื้อของมัน เพราะเนื้อมากหรือเลี้ยงไว้ขาย เพราะน้ำหนักมากได้ราคาดี ความจริงไก่ตะเภาก็ตีหรือชนกันได้ แต่ไม่เหมาะ จะเอาเล่นการพนัน เอาแพ้เอาชนะกันดูแล้วไม่สนุกสนานเหมือนไก่อู
                        ไก่ตะเภาก็คือไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงกันไปทั่วประเทศไทย ขนาดลำตัวใหญ่ขนสีน้ำตาลมีขนขึ้นที่แข้ง ไม่นิยมนำมาชน ในปัจจุบันเราไม่พบเห็นไก่ตะเภาอีกแล้ว อาจจะสูญพันธุ์หรือเหลืออยู่น้อยมาก เท่าที่เห็นไก่พื้นบ้านโดยทั่วไป จะพอพบเห็น “ไก่ที่มีขนขึ้นที่แข้ง แต่หลากหลายสี” ถ้าหากเราจะนำมาเลี้ยงอนุรักษ์ และพัฒนาให้ได้ไก่สีน้ำตาลแข้งมีขน ไก่ตะเภาก็ยังคงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไปอีก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราในปัจจุบันต้องช่วยกัน หันมาหาไก่ตะเภามาเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์ โดยเฉพาะเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ แห่งประเทศไทยต้องตื่นตัว เรื่อง อนุรักษ์ไก่ตะเภา ไก่พื้นเมืองของชาติไทย ให้ยืนยาวตลอดไป
                        สำหรับ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” เป็นไก่ลูกผสมที่พัฒนาสายพันธุ์โดยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่ตะเภาทอง (ไม่มีขนที่หน้าแข้ง) ของประเทศไทยกับไก่สามเหลือง    (ซาอึ้ง) ไก่พื้นเมืองจีนคัดสายพันธุ์จนได้สายพันธุ์ใหม่ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์”  มีลักษณะทั่วไปสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีทั้งหงอนจักรและหงอนหินแบบไก่พื้นเมืองไทย ขนทั้งตัวเป็นสีเหลืองทอง จงอยปากมีสีเหลือง แข้งจะมีสีเหลืองแต่ไม่มีขน ผิวหนังทั้งตัวเป็นสีเหลือง นอกจากนี้ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ยังเป็นไก่เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนทานต่อโรคเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองไทย
                        ไก่ทองแดงตะเภาทอง
                        เป็นสายพันธุ์ไก่ชนตระกูลทองแดงหางดำ ลักษณะมีขนทั้งตัวสีแดง คือ หน้าคอหน้าอกขนใต้ท้อง ขนใต้ปีกสีแดง สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง และสร้อยระย้ามีสีแดง หางพัดหางกระรวยมีสีดำ ส่วนไก่ทองแดงตะเภาทองนั้น ขนพื้นตัวและขนสร้อยจะมีสีแดงอ่อนลงมาหน่อย เป็นสีแบบทองคำแท่ง หรือสีเหลืองส้มแบบไก่ตะเภา ปาก แข้ง เล็บ เดือย จะมีสีเหลืองอมแดง ตาเหลืองอมแดง

***********************************
SHARE

นสพ.นิสิต ตั้งตระการพงษ์

ผู้จุดประกายหมาบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวจนโด่งดังทั่วประเทศ ซึ่งสุนัขพันธุ์บางแก้วและไก่ชนพันธุ์พระนเรศวรเหลืองหางขาว เป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการไปทั่วประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต เก็บข้อมูล บันทึก ผลักดันมาตรฐานพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จุดประกายให้สุนัขบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวโด่งดังมาจนถึงวันนี้

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น