อาจารย์ต้อ คือ อาจารย์วุธวรพงษ์ ศรีเมือง
ที่พวกเรารู้จักกัน ท่านทำงานเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตรบ้านกร่างเดิม
ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาพิษณุโลก
อาจารย์ต้อเป็นผู้ที่ทำอะไรจริงจัง เป็นนักปฏิบัติ เป็นนักวิชาการ
ที่นำความรู้มาเผยแพร่ชวยเหลือสังคม โครงการที่วิทยาลัยเกษตรบ้านกร่างร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก
อาจารย์จะรับเป็นผู้ปฏิบัติดูแลโครงการด้วยตนเอง
โครงการอนุรักษ์และพัฒนาสุนัขบางแก้ว อาจารย์ต้อต้องเลี้ยงสุนัขบางแก้วหลายสิบตัว
เพื่อศึกษาวิจัย และต้องจำหน่ายลูกสุนัขเพื่อหารายได้มาทำโครงการให้ครบวงจร
ความรู้ที่ท่านได้รับก็นำมาเผยแพร่
และท่านก็เป็นกรรมการตัดสินประกวดสุนัขบางแก้วร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
และท่านเป็นกรรมการที่ได้รับการยอมรับจากผู้เลี้ยงสุนัขบางแก้ว
อาจารย์ต้อเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาสุนัขบางแก้วจนสวยงามมีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน
อาจารย์ต้อ
ชอบเลี้ยงไก่ชน ไก่ตี ข้าพเจ้าจึงชักชวนให้มาเลี้ยงไก่เหลืองหางขาว
ไก่เจ้าเลี้ยงเป็นไก่ชนบ้านกร่าง
อาจารย์ต้อก็หันมาเลี้ยงไก่เหลืองหางขาวตามคำแนะนำของข้าพเจ้าด้วย
นอกจากเลี้ยงสุนัขบางแก้วจนโด่งดังแล้ว แต่ท่านก็ไม่ทิ้งงานวิจัยสุนัขบางแก้ว
การเลี้ยงไก่ชนนเรศวรก็ต้องให้ท่านเป็นฝ่ายวิชาการศึกษาอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรให้ได้ตามตำราโบราญ
อาจารย์ต้อได้ฝากความประทับใจให้ข้าพเจ้าอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อมีการเสวนากัน 3 คน
คือ อาจารย์ปรีชา บัวทองจันทร์ อาจารย์ต้อ และข้าพเจ้า ตอนแดดร่มลมตกได้ที่แล้ว อาจารย์ต้อเล่าว่า
มีไก่เก่งอยู่ตัวหนึ่งลูกศิษย์เอามาให้ท่านเลี้ยงเข้าสังเวียนตีชนะ 2-3 ครั้ง
มีคนกรุงเทพฯ ซื้อไปห้าหมื่นบาท ซึ่งขณะนั้นแพงมาก
ข้าพเจ้าคิดในใจว่าอาจารย์ต้อโม้ จึงถามว่าเชิงชนเป็นอย่างไร
อาจารย์ต้อบอกลักษณะพิเศษคือ มุดลงใต้อกคู่ต่อสู้ แล้วเห็นข้อขาคู่ต่อสู้สีแดง ๆ
จะจิกเจาะจนเอ็นข้อขาคู่ต่อสู้ขาด คู่ต่อสู้ขาเจ็บยืนไม่อยู่แพ้ในที่สุด
ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ ข้าพเจ้าก็ยังติดใจว่าอาจารย์ต้อโม้
สิบกว่าปีให้หลังถึงปัจจุบัน
ข้าพเจ้าจึงทราบความจริงว่าไก่ที่คิดว่าอาจารย์ต้อโม้นั้นก็คือ “ไก่ป่าก๋อย”
ไก่พื้นเมืองของจังหวัดลำพูน
เมื่อกลุ่มผู้เลี้ยงบ้านกร่างได้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรขึ้นเมื่อวันที่
10 เมษายน 2542
อาจารย์ต้อได้ช่วยแนะนำการเลี้ยงดู การป้องกันโรค และการผสมพันธุ์
ทำให้ชมรมได้พัฒนาการเลี้ยงได้ไก่ชนนเรศวรที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของตลาด
อาจารย์ต้อยังร่วมเป็นกรรมตัดสินไก่ชนนเรศวรกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกครั้ง
และรับเป็นวิทยากรบรรยาย
เรื่องการอนุรักษ์ไก่ชนนเรศวรให้กับชมรมอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวรของจังหวัดพิษณุโลก
แล้วท่านยังรับเป็นวิทยากรให้แก่จังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย เรื่องที่ได้รับเชิญก็คือ
-
เลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบยั่งยืน
-
การอนุรักษ์สัตว์เศรษฐกิจพื้นเมือง
-
การอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวร
เรื่องสำคัญที่อาจารย์ต้อได้รับมอบหมายจากข้าพเจ้าให้ไปศึกษาดูภูมิปัญญาไทย
ที่นักเลี้ยงไก่ชนไทยใช้
เป็นการผสมพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน
คือ “การผสมพันธุ์ให้ลงเหล่า”
เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไก่ชนนเรศวรให้ยั่งยืนและอาจารย์ต้อได้นำไปบรรยายเผยแพร่ให้ผู้เลี้ยงไก่นำไปปฏิบัติ
เป็นการนำภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ให้เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์
เพื่อให้เข้าใจง่ายแล้วนำมาลงพิมพ์หนังสือไก่ชนนเรศวรมหาราช
ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง ไก่ลือเลื่องของเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ.2542
อาจารย์ต้อหรืออาจารย์วุฒิวรพงษ์
ท่านเป็นวิชาการที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้วนำมาเผยแพร่ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
ท่านต้องเลี้ยงสุนัขไทยบางแก้วจำนวนมาก ไก่ชนนเรศวรเพื่อการศึกษา แล้วนำความรู้ที่ได้เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้
เป็นส่วนหนึ่งทำให้สุนัขบางแก้วและไก่ชนนเรศวรมีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านยังเป็นกรรมการร่วมตัดสินการประกวดสุนัขบางแก้วและไก่ชนนเรศวรอีกด้วย
ท่านอาจารย์ต้อจึงเป็นบุคคลอันทรงคุณค่าที่พวกเราชาวพิษณุโลก
หรือผู้เลี้ยงสุนัขบางแก้วแลไก่ชนนเรศวร
ต้องให้เกียรติและระลึกถึงผลงานของท่านที่ฝากไว้กับวงการสุนัขบางแก้ว
และไก่ชนนเรศวร เมื่อท่านจากไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2548
พวกเรายังรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ
**************************************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น