ปรีชา บัวทองจันทร์

                        ลูกชายชื่อ ปรีชา  บัวทองจันทร์  “งานคือชีวิต  ชีวิตคืองาน” คือ อุดมคติในการทำงาน ทั้งชีวิตการทำงานรับราชการ อยู่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด 30 ปี ทุ่มเทงานให้กับการอนุรักษ์และพัฒนาสุนัขบางแก้ว และไก่ชนนเรศวร  จนทำให้สุนัขบางแก้วและไก่ชนนเรศวร เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก สุนัขบางแก้วขณะนี้อยู่ระหว่างการรับรอง เป็นสุนัขพันธุ์ไทยสายพันธุ์หนึ่งของโลก  ไก่ชนนเรศวร  มีการเผยแพร่การเลี้ยงทั่วประเทศ และมีการนำเข้าไปเลี้ยงในประเทศตะวันออกกลางเป็นอันมาก เช่น ประเทศบาเรน และคูเวต ด้วยการปฏิบัติงานของคุณปรีชา  บัวทองจันทร์  อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และมีความคิดสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับผู้เลี้ยงสุนัขบางแก้ว และไก่ชนนเรศวร ในการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ จึงทำให้ท่านได้รับตำแหน่งเป็น นักวิชาการสัตวบาล ชำนาญการพิเศษ
                        ประเทศไทยมีเกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมืองทั่วประเทศ มีประชากรไก่พื้นเมืองประมาณ 76 ล้านตัว และมีเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองประมาณ 3 ล้านครอบครัว เชื่อกันว่าคนไทยเลี้ยงไก่พื้นเมืองสืบทอดเป็นมรดกทางการเลี้ยง และมรดกทางสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ตั้งแต่ก่อนการสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีอีก คือมากกว่า 700 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ไก่พื้นเมืองจึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกในชนบท ประชาชนหาบริโภคได้ง่ายและมีรสชาติดี ไก่พื้นเมืองไทยมีมากมายหลายสายพันธุ์ เพื่อดำรงคงอยู่ในแต่ละภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ มีไก่แม่ฟ้าหลวง  ไก่ชี้ฟ้า  ไก่แม่ฮ่องสอน  ทางภาคใต้มีไก่พันธุ์เบตง ไก่คอล่อน จังหวัดพิษณุโลก มีไก่หยอง ไก่หัวจุก  และยังมีไก่ชนสายพันธุ์ดั้งเดิมของแต่ละจังหวัดอีก เช่น ไก่เหลืองหางขาว (ไก่ชนนเรศวร) จังหวัดพิษณุโลก  ไก่ประดู่หางดำ (ไก่พ่อขุน) สุโขทัย, ไก่เขียวพาลี (ไก่ชนพระยาพิชัยดาบหัก) อุตรดิตถ์,ไก่เทาทอง (พระเจ้าตากสิน) จังหวัดตาก ไก่เขียวพระรถ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไก่ด่างเบญจรงค์ (ไก่พระลอ) จังหวัดแพร่  และไก่ประดู่หางดำแสมดำ        (ไก่พระเจ้าเสือ) จังหวัดพิจิตร
                        คุณปรีชา  บัวทองจันทร์  ได้ทำงานอย่างหนักในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ชนนเรศวร และการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาไก่ชนนเรศวร ตลอดจนเป็นวิทยากรบรรยายและเขียนตำราการเลี้ยงไก่ชนนเรศวร เป็นกรรมการตัดสินไก่ชนในงานประกวดไก่ชนตามอุดมทัศนีย์สายพันธุ์ ต่าง ๆ ทั่วประเทศ  จนเป็นที่ยอมรับของวงการอนุรักษ์ไก่ชนไทย คุณปรีชา  บัวทองจันทร์  จึงได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นระดับประเทศ และเป็นศิษย์เก่าแห่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยเกียรติบัตรที่คุณปรีชา  บัวทองจันทร์ ได้รับและเป็นที่ยอมรับของกรมปศุสัตว์  กรมปศุสัตว์พิจารณาแล้วเห็นว่าจังหวัดพิษณุโลก มีความเหมาะสมเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย สามารถพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติได้ จึงเห็นสมควรให้จัดงาน “มหกรรมไก่พื้นเมืองแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 1-3 มีนาคม 2556”
                        คุณปรีชา  บัวทองจันทร์  ได้ประสานงานการจัดงานกับจังหวัดพิษณุโลก และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมมือเป็น 3 ประสานหน่วยงาน จัดงานมหกรรมไก่พื้นเมืองแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ขึ้นที่หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมือง เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกร ในงานนี้มีการจัดนิทรรศการสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองต่าง ๆ มีการประกวดไก่ชนไทย 9 สี ตามอุดมทัศนีย์ ชิงถ้วยพระราชทานพระบรมโอรสาธิราชฯ 9 ถ้วย  นอกจากนี้มีการจัดประชุมสัมมนา มีการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไก่พื้นเมือง การตอบปัญหา ประกวดวาดภาพ และมีการแสดงละครแสงสีเสียงตอนพระนเรศวรชนไก่ เป็นการปลุกระดมให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของไก่พื้นเมืองไทย เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติไทยและส่งเสริมให้ “ไก่พื้นเมืองไทย มรดกไทย สู่มรดก (ตลาด)โลก” 
SHARE

นสพ.นิสิต ตั้งตระการพงษ์

ผู้จุดประกายหมาบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวจนโด่งดังทั่วประเทศ ซึ่งสุนัขพันธุ์บางแก้วและไก่ชนพันธุ์พระนเรศวรเหลืองหางขาว เป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการไปทั่วประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต เก็บข้อมูล บันทึก ผลักดันมาตรฐานพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จุดประกายให้สุนัขบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวโด่งดังมาจนถึงวันนี้

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น