ไก่ชนพ่อขุนบางกลางท่าว

                        พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยางนักประวัติศาสตร์ได้ลงความเห็นว่า เมืองบางยาง ก็คือ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบันซึ่งมีเอกลักษณ์ที่คนไทยควรจะรับรู้ และรักษาไว้ให้อยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป คือ “ต้นจำปาขาว” เป็นต้นจำปาต้นเดียวของประเทศไทย และของโลกที่ออกดอกสีขาวซึ่งพ่อขุนบางกลางท่าวได้ปลูกเสี่ยงทายไว้ก่อนยกทัพออกไปปราบขอมที่สุโขทัย ถ้าได้รับชัยชนะขอให้ต้นจำปาขาวเจริญงอกงาม  จนถึงปัจจุบันมีอายุมากกว่าเจ็ดร้อยปี  “ประเพณีปักธงชัย” ณ.ยอดเขาช้างล้วงจัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12  ซึ่งพ่อขุนบางกลางท่าวนำธงผืนแรกขึ้นไปปักเป็นธงแห่งชัยชนะต่อขอม และชาวนครไทยเชื่อว่าเป็นธงผืนแรกของประเทศไทย
                        ตำนานโบราณของชาวนครไทยเล่าสืบต่อกันมา พ่อขุนบางกลางท่าวสืบเชื้อสายมาจากเจ้าในราชวงศ์เชียงแสน ได้พาชาวเมืองอบพยบเรื่อยลงมาแล้วตั้งเมืองขึ้นที่นครบางยางเป็นทำเลที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกเป็นที่ราบกว้างใหญ่มีแม่น้ำแควน้อยหล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์ มีเทือกเขาล้อมรอบ เป็นแนวป้องกันศัตรูที่จะโจมตี  ชาวไทยทุกคนต้องฝึกซ้อมการรบให้มีความชำนาญ ต้องเก่งทั้งการชกมวย และฟันดาบ  ดังจะเห็นได้จากพระรูปอนุสรณ์ของท่านทุกหนแห่ง  มือต้องถือดาบ  กีฬาที่ท่านทรงโปรด คือการชักว่าว ดังเพลงเขาทะมึน เป็นเพลงประจำอำเภอนครไทยท่อนหนึ่งคือ “พระทรงโปรดเล่นว่าว  เวลาว่างเปล่าแก้เหงาพระทัย ชักว่าวขึ้นไว้  ผูกกับหลักชัยให้นิกรชม” ปัจจุบันพบเสาหืนสีแดงขนาดใหญ่มีร่องคล้ายร่องเชือกผูกมัดว่าวอยู่บนเขาหลักว่าวชาวบ้านเรียกว่า “หลักว่าวพระร่วง” กีฬาแข่งเรือในแม่น้ำแควน้อยก็เป็นที่นิยมของชาวเมืองบางยาง  เมื่อเสร็จจากการทำไร่ทำนาก็มาพายเรือแข่งกัน  ปัจจุบันยังมีเรือโบราณที่อนุรักษ์ไว้ คือ เรือนางเรไร วัดหน้าพระธาตุเรือนางขุนโขน  วัดหัวร้อง
                        การชนไก่ก็เป็นที่นิยมกันของคนไทยสมัยโบราณ  เนื่องจากมีการเลี้ยงไก่ไว้เป็นอาหาร แล้วคัดเลือกตัวที่ชนเก่งไว้เป็นไก่ชนและขยายพันธุ์  อันเป็นประเพณีของคนไทยทางเชียงแสน ล้านนา และเชียงรุ้ง นิยมเลี้ยงไก่สีดำไว้กินเพื่อบำรุงกำลังร่างกายสอดคล้องกับหนังสือ “ไก่กับคนจากมุมมองชีวชาติพันธุ์วิทยา” ซึ่งเจ้าชายอะกิเมโนะโนะมิยะ ฟูมิฮิโตะ ทรงพระนิพนธ์พร้อมด้วยคณะผู้เขียนได้ไปสำรวจศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ของคนกับไก่ในเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนานประเทศจีน  พบว่า “ไก่ต่อ” คือไก่สีดำพบในหมู่บ้านชาวไทยดำ และพบในหมู่บ้านชาวไทยเผ่าอื่นๆ “ไก่สีดำจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี”เพราะมีความเชื่อว่าการกินไก่แข้งเหลืองจะทำให้ผู้กินเจ็บป่วยได้  นอกจากนี้ชาวไทยยังนับถือยกย่องเจ้าของไก่ชนที่ชนเก่งด้วยและการชนไก่เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ไก่อีกทางหนึ่ง
                        พ่อขุนบางกลางท่าวได้นำไก่สีดำมาเลี้ยงที่นครบางยางไว้เพื่อบริโภคเป็นอาหาร และคัดไก่เก่งไว้ชน ท่านมีไก่ที่ชนเก่งไว้หลายตัว  เมื่อนำออกชนจะชนะทุกครั้งจนเป็นที่เกรงขามของเมืองใกล้เคียง  ผู้คนทั่วไปจึงเรียกว่า “ไก่เก่งพ่อขุน” ในปัจจุบันเรียกชื่อสั้นๆว่า “ไก่พ่อขุน” พันธุ์ไก่สีดำในปัจจุบันก็คือไก่ประดู่หางดำ  เมื่อพ่อขุนบางกลางท่าวรบชนะขอม และได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยมีพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ไก่เก่งพ่อขุน(ประดู่หางดำ)จึงเป็นที่ต้องการของเจ้าเมืองต่างๆ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงใช้ไก่ชนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไมตรี  ไก่พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยจึงมีชื่อเสียงโด่งดังกระจายพันธุ์ไปทั่ว
                        ไก่พ่อขุนประดู่หางดำเป็นไก่ชนที่มีเชิงชนหลายกระบวนท่า รูปร่างก็งดงาม
เป็นไก่ที่มีขนลำตัว,ขนปีก,สีดำ ขนหางทั้งพุ่มหางต้องเป็นสีดำสนิท สร้อยคอต้องยาวประบ่าถึงแผ่นหลัง สร้อยหลังต้องยาวระย้าประก้น สีของสร้อยคอ สร้อยหลัง และสร้อยปีกต้องมีสีประดู่เข้มหรือสีน้ำตาลไหม้ดำ แข้งมีสีดำ  ไก่ประดู่หางดำ ไก่พ่อขุนจึงเป็นไก่ที่ชาวอำเภอนครไทยต้องนำมาเลี้ยงเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ เป็นไก่ประวัติศาสตร์ของพ่อขุนบางกลางท่าว เพื่อให้ไก่ประดู่หางดำอยู่คู่ประเทศไทยตลอดกาล


                             **********************************************************
SHARE

นสพ.นิสิต ตั้งตระการพงษ์

ผู้จุดประกายหมาบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวจนโด่งดังทั่วประเทศ ซึ่งสุนัขพันธุ์บางแก้วและไก่ชนพันธุ์พระนเรศวรเหลืองหางขาว เป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการไปทั่วประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต เก็บข้อมูล บันทึก ผลักดันมาตรฐานพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จุดประกายให้สุนัขบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวโด่งดังมาจนถึงวันนี้

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น