ฤดูร้อนกับไก่ชน (Heat Prostration)

            ก่อนจะถึงฤดูร้อน ก็คือฤดูหนาว การเลี้ยงไก่ในฤดูหนาวนั้น เรากลัวอากาศหนาวเย็นการเลี้ยงไก่จึงต้องให้ความอบอุ่น ปกปิดคอกเล้าเพื่อกันลมหนาว ลูกไก่นอนกลางคืนต้องกกไฟฟ้าให้ความอบอุ่น การเคลื่อนย้ายไก่ไปยังจังหวัดที่หนาวเย็นต้องควรระวังไก่ผิดอากาศ ทำให้ป่วยได้ พอเข้าฤดูร้อนการเลี้ยงไก่ต้องเปลี่ยนตรงข้ามกับฤดูหนาว เมื่ออากาศร้อนไก่ต้องการความเย็น ดังนั้น สิ่งปกปิดทำให้อากาศอบอุ่นของเล้าคอกที่กันลม ต้องเอาออกม้วนเก็บไว้ ทำให้คอกเย็นลงมีลมพัดเข้ามา สภาวะอากาศร้อนอุณหภูมิสูง สัตว์ทุกชนิดไม่ชอบ จึงมักหลบไปอยู่ตามร่มไม้ที่เย็นกว่า สัตว์ใหญ่ เช่น ม้า วัว ควาย อยู่รวมกันหลาย ๆ ตัวขณะขนส่งบนรถ มีผลทำให้อากาศร้อนได้ สภาวะอากาศร้อนยาวนาน หรือสัตว์ตากแดดนาน จึงทำให้เป็นลมได้ หรือบางครั้งเป็นตะคิวได้ ถ้าไม่ให้รับการรักษาอาจถึงตาย จะเห็นได้ว่าไก่ชนที่ขังสุ่มตากแดดเจ้าของลืมเก็บเข้าร่มนาน 2-3 ชั่วโมงกลับมาไก่ตายแล้ว ได้พบเห็นบ่อย ๆ
            สภาวะอากาศร้อนทำให้สัตว์เป็นลม หรือเป็นตะคิว หรือทำให้สัตว์ใหญ่ ๆ ตายได้นั้น มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน ทำให้หลอดเลือดตามร่างกายสัตว์ขยายใหญ่ขึ้น เลือดของร่างกายก็มาอยู่ในหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้ร่างกายขาดเลือดหมุนเวียน จึงเกิดอาการเป็นลมขึ้น ในขณะเดียวกันอากาศร้อนทำให้สัตว์มีเหงื่อออกมามาก แร่ธาตุที่ออกมากับเหงื่อมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีแร่ธาตุไม่สมดุล จะทำให้สัตว์เป็นตะคิวได้ ดังนั้น ในตำราภาษาอังกฤษ จึงมีชื่อเรียกสัตว์ที่ได้รับสภาวะอากาศร้อนหลายอย่างคือ Hypertherimia, Heat Exhaustion, Heat cramps, Heat Stroke, Sun Stroke แต่สำหรับไก่นั้นมีชื่อเรียกต่างกันออกไปคือ Heat Prostration เนื่องจากร่างกายของไก่หรือพวกสัตว์ปีก เช่น นก เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ เมื่ออากาศร้อนสูงความชื้นอากาศก็สูง ไก่ไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายทางเหงื่อเหมือนสัตว์อื่นได้ เมื่ออากาศร้อนไก่จึงอ้าปากหายใจ หายใจเร็วขึ้น ถี่ขึ้น เรียกว่าหายใจหอบ ไก่จะกางปีกขึ้นยกหัวปีกขึ้น เพื่อระบายความร้อน ไก่จะหิวน้ำมาก ชีพจรไก่จะเต้นเร็วขึ้น เมื่อไก่ไม่ได้รับการรักษา ไก่จะหมอบลงเอาหน้าอกติดพื้นดิน และมีโอกาสชักตายได้ ดังที่ไก่ขังสุ่มตากแดดนานๆ โดยเจ้าของไม่ดูแลไก่จึงชักตายได้
            ส่วนการดูแลรักษาไก่ที่เลี้ยงในฤดูร้อน หรือพบไก่ที่ถูกอากาศร้อนมาก ๆ นั้น ต้องนำไก่เข้าร่มไม้ นำผ้าชุบน้ำเช็ดตัวไก่ให้เย็นลง ให้น้ำกินตลอดเวลา สำหรับคอกที่มีการเลี้ยงไก่มาก ๆ ควรให้พัดลม เกิดอากาศถ่ายเท อุณหภูมิจะลดลงได้ หรือบางคอกที่ติดตั้งสะปริงเกอร์ปล่อยน้ำบนหลังคาเหมือนฝนตก ก็จะลดอุณหภูมิของอากาศให้เย็นลงได้ ต้องควรระวังในฤดูร้อนสำหรับผู้เลี้ยงไก่ชนที่นำไก่ขังสุ่มมาตากแดด ควรดูแลให้พอเหมาะแล้วนำเข้าร่ม ไก่ชนขังสุ่มในเต้นกลางแดด เช่น ไก่นำไปประกวด เจ้าของควรต้องคอยดูแลให้น้ำกินอย่างพอเพียง เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น และตามเล้าคอกไก่ต้องติดตั้งพัดลมหรือติดสะปริงเกอร์ทำฝนเทียมบนหลังคา เพื่อลดความร้อนด้วย
            สำหรับการนำไก่เดินทางโดยการใส่กล่องหรือลัง หากรถยนต์ไม่ได้ติดแอร์อากาศไม่ถ่ายเท อาจเกิดสภาวะอากาศร้อนในกล่องหรือลังที่ใส่ไก่ได้ ซึ่งทำให้ไก่ตายได้ เพื่อป้องกันการเกิดสภาวะอากาศร้อน ควรหากาบกล้วยใส่รองก้นกล่องหรือลังก็จะช่วยให้ไก่คลายเครียดจากอากาศร้อนได้
            โรคของไก่ในฤดูร้อนที่พบเป็นประจำ ซึ่งผู้เลี้ยงไก่ควรระวังคือโรคอหิวาต์ ไก่ป่วยจะแสดงอาการเหงาหน้าสีคล้ำป่วย 2-3 วัน ก็ตาย หากไม่ได้รักษา หรือถ้าเป็นอย่างเฉียบพลันไก่จะป่วยตายใน 12 ชั่วโมง ป่วยเช้าตายเย็นหรือป่วยเย็นตายเช้าเรียกว่าตกคอนตาย ไก่ที่เคยทำวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แล้วก็จะปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคนี้ ในฤดูร้อนไก่ที่ปล่อยในบริเวณบ้านในสวน เมื่ออากาศร้อนไก่ก็จะหาน้ำกิน ซึ่งอาจกินน้ำที่ไม่สะอาด ที่เหลือตกค้างในบริเวณบ้านสวน เมื่อไก่กินน้ำไม่สะอาด จะทำให้ป่วยเป็นโรคอหิวาต์ได้ โรคอหิวาต์นี้หากพบว่าไก่ป่วยจะรักษาด้วยยาซัลฟาชนิดละลายน้ำให้ไก่กิน หรือชนิดฉีดเข้ากล้ามก็ได้ ดังนั้น ในฤดูร้อนจึงควรเลี้ยงไก่ในที่ร่มเย็น มีน้ำสะอาดให้ไก่กินได้ตลอดเวลา ก็จะปลอดจากโรคอหิวาต์ และสภาวะร่างกายไก่ขาดน้ำ ซึ่งมีโอกาสทำให้ไก่ตายได้

*********************************
SHARE

นสพ.นิสิต ตั้งตระการพงษ์

ผู้จุดประกายหมาบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวจนโด่งดังทั่วประเทศ ซึ่งสุนัขพันธุ์บางแก้วและไก่ชนพันธุ์พระนเรศวรเหลืองหางขาว เป็นสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพิษณุโลก และเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการไปทั่วประเทศ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต เก็บข้อมูล บันทึก ผลักดันมาตรฐานพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่จุดประกายให้สุนัขบางแก้วและไก่เหลืองหางขาวโด่งดังมาจนถึงวันนี้

  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
  • Image
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น