ไก่ชนพ่อขุน คำว่าพ่อขุน
พวกเราต้องนึกถึง ประวัติศาสตร์ชาติไทย ยุคสุโขทัย
ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของชาติไทย มีการสถาปนาวงศ์พระร่วง ขึ้นปกครองสุโขทัย มีปฐมบรมกษัตริย์องค์แรก
ชื่อ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
กษัตริย์ในยุคแรกของกรุงสุโขทัย จึงมีชื่อนำหน้าว่าพ่อขุน
ซึ่งเป็นการเบ่งบอกว่าพระมหากษัตริย์ในยุคสุโขทัยมีความเป็นอยู่หรือปกครองกันแบบ พ่อกับลูก
พ่อขุนต้องเป็นคนเก่ง เป็นผู้นำออกรบข้าศึกต้องนำหน้า
ดังนั้นพ่อขุนจึงรอบรู้ทุกศาสตร์ เช่น ชกมวย ฟันดาบ ซึ่งผู้ชายไทยทุกคนต้องเรียนรู้กีฬาชนไก่
กีฬาชักว่าว ซึ่งเป็นที่สนุกสนานก็เป็นที่นิยมของชายไทยสมัยนั้นอีกเช่นกัน
พ่อขุนต้องชอบชนไก่และชักว่าวด้วย มีเรื่องเล่าว่าพ่อขุนเล่นชักว่าว
ต้องรีบชักว่าวเพื่อให้ว่าวขึ้นติดลมบนนั้น ครั้งหนึ่งท่านวิ่งสดุดตอไม้ล้มลง
คะมำไปข้างหน้าหัวเข่าทั้งสองข้างค้ำกับพื้นดินก้นโด่ง สมัยโบราญเรียกว่า ล้มแบบคุดคู้
บริเวณที่ท่านล้มลงคุดคู้นั้น ต่อมาเป็นชุมชนเรียกว่า บ้านคุดคู้ แต่กาลเวลานานการเรียกชื่อชอบเรียกชื่อสั้น
ๆ จึงเรียกเพี้ยนเป็นบ้านคู้ หรือบ้านคุ
ในปัจจุบัน อยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย การเลี้ยงไก่ชนของพ่อขุนก็เลี้ยงแต่สายพันธุ์ไก่เก่งมักตีไก่คู่ต่อสู้ชักดิ้นชักงอ
เมื่ออุ้มเข้าสนามชนไก่แล้วทุกคนขยาดไม่อยากชนด้วย สายพันธุ์ไก่ที่โด่งดังนี้จึงเรียกติดปากกันว่าไก่พ่อขุน
ไก่พ่อขุนเป็นไก่ประดู่หางดำ ซึ่งในปัจจุบันไก่ประดู่หางดำสายพันธุ์โบราญมีเหลืออยู่น้อยมาก
หาพันธุ์มาเลี้ยงยาก จึงควรอนุรักษ์เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย
พระร่วงอุ้มไก่
คำว่าพระร่วงนั้นมีกล่าวไว้เป็นเรื่องราวของกรุงสุโขทัยในอดีตอยู่ในตำนาน
หนังสือพงศาวดารเหนือ ซึ่งเขียนเรื่องให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้วิเศษผิดธรรมดา
ต้องมีบุญบารมีสูง และมีวาจาสิทธ์ จากหนังสือเรื่องพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระปฐมบรมกษัตริย์ผู้สร้างชาติไทย จังหวัดพิษณุโลก จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2553
สันนิษฐานไว้ว่า พระร่วง หมายถึง พ่อขุนบางกลางท่าว
หรือพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัย
ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้เรียกกษัตริย์สุโขทัยว่า พระร่วง อีกพระนามหนึ่งในยุคสุโขทัยตอนต้น
ในยุคโบราญจึงได้มีการสร้างพระเครื่องขึ้นสองรุ่นคือ
พระร่วงนั่ง
เนื้อชินกรุบางขลังในตำนานการรบขับไล่ขอมของพ่อขุนบางกลางท่าว
และพ่อขุนผาเมือง พระร่วงรางปืน กรุวัดพระศรีมหาธาตุ (วัดพระปรางค์)
อำเภอศรีสัชนาลัย สุดยอดพระเครื่องมงคลนาม พระร่วงอุ้มไก่
จัดสร้างโดยวัดท่าเกษม อำเภอสวรรคโลก
ปัจจุบันเป็นพระเครื่องที่หายาก เนื่องจากชาวไก่ชนนิยมห้อยคอเข้าสนามไก่ชนแล้วมีโชคลาภได้เงินกระเป๋าตุงกลับบ้านกันทุกคน
จึงเป็นที่ต้องการของชาวไก่ชน ของจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง
ไก่พ่อขุน
พระร่วงอุ้มไก่ ล้วนเป็นสัญญลักษณ์ของไก่เก่งเมืองสุโขทัย
ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยมานานมากแล้ว จึงทำให้สายพันธุ์ไก่เก่งพ่อขุนประดู่หางดำ
ได้กลายพันธุ์ไป ประดู่หางดำพันธุ์แท้ ๆ จึงเป็นของหายาก
แต่พวกเราชาวสุโขทัยลูกพ่อขุนควรหาไก่พ่อขุนมาเลี้ยงอนุรักษ์
และปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ไก่ประดู่หางดำพันธุ์แท้เหมือนโบราญ ซึ่งเรียกว่าไก่พ่อขุน จากหนังสืออุดมทัศนีย์ไก่ชนไทย
ซึ่งเขียนโดยอาจารย์พน นิลผึ้ง
บอกว่าไก่ประดู่หางดำเป็นไก่ชนที่เก่งมีชื่อเสียงโด่งดังมาก
สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงนำไปชนกับไก่ของพ่อขุนเม็งราย และพระยางำเมือง
ได้รับชัยชนะด้วย สมัยอยุธยาสมาเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว) ทรงนำไก่ประดู่หางดำ
ไปชนกับไก่ของข้าราชบริวารทรงชนะตลอด และในสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ
เมื่อเสด็จมาประทับ ณ เมืองพิจิตร
ทรงโปรดปรานไก่ชนประดู่หางดำมากเพราะว่ามีลีลาการชนหลายกระบวนท่า
ไก่ประดู่จึงเป็นไก่เก่งไม่แพ้ไก่เหลืองหางขาว นอกจากนี้ยังมีรูปร่างงดงามมาก
ชั้นเชิงการชนเป็นไก่เชิงบน 4 กระบวนท่า ขี่ กอด ทับเท้าบ่า หรือบางทีมีมัดปีกด้วย
ไก่พ่อขุนที่ชาวจังหวัดสุโขทัย
ต้องอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อให้เป็นไก่เอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัยนั้น คือ
ไก่ประดู่สีสร้อย เป็นสีเม็ดมะขามหรือเม็ดมะขามคั่ว หรือเป็นสีน้ำตาลแก่
ซึ่งชาวไก่ชนรู้จักกันในชื่อ ประดู่เม็ดมะขาม (คั่ว) มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์คือ
สร้อยคอ สร้อยปีก และสร้อยหลังต้องยาวระย้า สีสร้อยต้องไม่มีสีอื่น
ๆ ปน ทั้งสามแห่ง ต้องเป็นสีประดู่ (น้ำตาลแก่) ส่วนขนนั้นมีขนตามพื้นตัวทั่วไป
และขนปีกต้องเป็นสีดำสนิทขนหางทั้งหางพัดและหางกระลวย ต้องเป็นสีดำสนิทเช่นกัน
ทั้งขนปีกขนตัวและขนหางต้องไม่มีสีขาวหรือสีอื่น ๆ ปนหรือแซมตาไก่ประดู่มะขาม
ต้องเป็นสีไพล หรือสีแดง สีของปาก เกล็ดแข้ง เล็บ และเดือย ต้องเป็นสีน้ำตาลแก่
หรือสีเหมือนน้ำผึ้ง สีหน้าต้องแดงเหมือนหนัง หน้าอกต้องแดงจัด สำหรับไก่ประดู่หางดำเม็ดมะขามเพศเมียนั้น
มีลักษณะที่เด่นชัดคือ ขนทั้งตัวต้องสีดำสนิทไม่มีสีอื่นปน ขนปีกสีดำยาวปิดก้น
ขนหางยาวสีดำตาต้องสีไพล สีปาก แข้ง เล็บ และปุ่มเดือยต้องสีน้ำตาลแก่
ขนคอบางตัวจะมีสีประดู่แซมอยู่ปลายขน หรือเรียกว่าตัวเมียมีสีสร้อยประดู่ก็ได้
ต้องขอขอบพระคุณสมาคมกล้วยไม้สุโขทัย
โดยเฉพาะคุณดำรงวุฒิ วิริยะ นายกสมาคมกล้วยไม้จังหวัดสุโขทัย ที่มองเห็นความสำคัญของอนุรักษ์ไก่ประดู่หางดำ
ที่มีต้นกำเนิดที่จังหวัดสุโขทัยให้คงอยู่และมีการเลี้ยงให้แพร่หลาย
ในอนาคตจะเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดสุโขทัย จึงประสานกับคุณเผ่าพันธุ์ ปราณีบุตร
ในการจัดประกวดไก่ชนประดู่หางดำขึ้นในงานประกวดกล้วยไม้ช้างชนช้างขึ้น
ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวไก่ชนเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์
และนำไก่เข้าประกวดสวยงามตามมาตรฐาน ต้องนำไก่เข้าประกวดสวยงามตามมาตรฐาน
ต้องนำไก่เข้าประกวดในงานช้างชนช้างทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นการช่วยการอนุรักษ์ไก่ประดู่หางดำให้แพร่หลายทั่วประเทศ
และมีการนำไปเลี้ยงยังต่างประเทศด้วย หวังว่าไก่ประดู่หางดำ
คงเป็นไก่ประจำจังหวัดสุโขทัย เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย
และมีการเลี้ยงคงอยู่ยั่งยืนคู่กับประเทศไทยของเรา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น